ARTSBKK


ข้อมูลสถานศึกษา

ข้อมูลเกี่ยวกับสถานศึกษา

                   ๑.๑.๑) ประวัติของสถานศึกษา

              วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๙ มีฐานะเป็นโรงเรียนราษฎร์ และย้ายมาเปิดทำการเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ณ เลขที่ ๒๐ อาคาร ๖ ถนนราชดำเนินกลางในนามโรงเรียนช่างหนัง ราชดำเนิน รับนักศึกษาผู้สำเร็จชั้นประถมปีที่ ๔ เข้าเรียน สอนวิชาช่างหนังแก่นักเรียนชาย  และ วิชาตัดเย็บเสื้อผ้าแก่นักเรียนหญิง ตั้งอยู่ใกล้วัดสุทัศน์เทพวราราม พ.ศ. ๒๔๘๒ กระทรวงธรรมมาการในสมัยนั้นได้รับโอนกิจการไปขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการโดยตรง และย้ายโรงเรียนช่างเย็บหนังและเสื้อผ้าเฉลิมโลก สอนเฉพาะ นักเรียนชาย

              ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ นายบำรุงพรหมฤกษ์  เป็นครูใหญ่ได้เปิดสอนมัธยมอาชีวศึกษาตอนปลายหลักสูตร ๓  ปี  ต่อจากมัธยมศึกษาตอนปลายและตามแผนการศึกษาแห่งชาติปี  ๒๕๐๓  ได้เปลี่ยนชื่อจากอาชีวศึกษาชั้นสูงเป็นมัธยมศึกษาสายอาชีพซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันนี้

              เนื่องจากการเรียนการสอน  และกิจการอื่น ๆ ได้เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับโดยเฉพาะวิชาช่างหนังได้เพิ่มสอนวิชาที่ทันสมัย  ซึ่งท้องตลาดยังไม่ได้ดำเนินการทำ  นักเรียนสามารถทำงานด้านช่างหนังซึ่งมีอยู่ในท้องตลาดได้ทุกชนิด  สามารถทำสิ่งที่ท้องตลาดยังไม่ได้คิดทำ นักเรียนที่สำเร็จออกไปมีความรู้ทางด้านวิชาช่าง  และวิชาสามัญเป็นอย่างดี สามารถนำความรู้ ความสามารถไปใช้ในการประกอบอาชีพทั้งในหน่วยงานรัฐบาล และเอกชน

              ฉะนั้นโรงเรียนเห็นว่าควรได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนใหม่  เพื่อความเหมาะสม จึงได้เสนอขออนุมัติเปลี่ยนเป็นชื่อโรงเรียนไปยังกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ  และได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนชื่อจาก “โรงเรียนช่างเย็บหนังราชดำเนิน” ไปเป็น  “โรงเรียนช่างหนังพระนคร” ตั้งแต่วันที่  ๑ ตุลาคม  ๒๕๑๓

              ต่อมาในปี  ๒๕๑๙  ทางโรงเรียนได้จัดทำหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) “แผนกวิชาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง” เสนอต่อกรมอาชีวศึกษา  ซึ่งทางกรมได้พิจารณาและอนุมัติให้ทางโรงเรียนเปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงดังกล่าว  ซึ่งทำให้ผู้ได้รับการศึกษาในแผนกนี้มีความรู้ความสามารถในการไปประกอบอาชีพส่วนตัวและรับราชการพร้อมมีฐานะเทียบเท่าอนุปริญญาทางอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง และ เมื่อวันที่  ๗  มิถุนายน  ๒๕๑๙  ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนจากโรงเรียนช่างหนังพระนคร  อีกครั้งหนึ่งเป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษากรุงเทพ วิทยาเขต ๕ ราชดำเนิน ประกอบด้วยสถานศึกษา  ๘ แห่ง  คือ

              ๑.  วิทยาลัยเทคนิคดุสิต

              ๒.  วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา

              ๓.  วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี

              ๔.  วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอี่ยมละออ

              ๕.  โรงเรียนช่างหนังพระนคร

              ๖.  วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี

              ๗.  วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม

              ๘.  วิทยาลัยเทคนิคอินทราชัย

 

พ.ศ. ๒๕๒๑      เปลี่ยนชื่อเป็น  วิทยาลัยช่างอุตสาหกรรมนครหลวง

พ.ศ. ๒๕๒๒      ได้แยกตัวเป็นอิสระชื่อ  วิทยาลัยเทคนิคอินทราชัย  มี  ๒  วิทยาเขตราชดำเนิน  และ  วิทยาเขตประตูน้ำ

พ.ศ. ๒๕๒๓      วิทยาลัยเปิดสอนแผนกวิชาศิลปหัตถกรรมอีก ๑ แผนก และ ได้รับการยกฐานะยกให้เป็นวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ  เมื่อวันที่  ๑  เมษายน  ๒๕๒๓                     นายบำรุง  พรหมฤกษ์  เป็นผู้อำนวยการ

พ.ศ. ๒๕๒๕      เปิดสอนแผนกวิชาศิลป์ประยุกต์ เพิ่มอีก ๑ แผนก

พ.ศ. ๒๕๓๐      เปิดสอนแผนกวิจิตรศิลป์เพิ่ม  และขยายที่สอนไปยังเขตราชสิทธาราม อีก ๑ เขต

พ.ศ. ๒๕๓๒      เปิดสอนหลักสูตรระยะสั้น  สาขาวิชาการทำกระเป๋า  และการทำรองเท้า

พ.ศ. ๒๕๓๕      ได้รับงบประมาณสร้างวิทยาลัยใหม่  ที่ลาดพร้าว ๑๐๑ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กทม.  เปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)สาขาวิชา                             อุตสาหกรรมเครื่องหนัง  สาขาวิชาหัตถกรรม  สาขาวิชาการออกแบบ  สาขาวิชาวิจิตรศิลป์ 

พ.ศ. ๒๕๓๗      ย้ายแผนกอุตสาหกรรมเครื่องหนัง (ปวช.๒) จากเขตลาดพร้าวมาสอนที่เขตราชสิทธาราม  และ  ราชดำเนิน

                   -  เปิดรับสมัครนักเรียนปวช. ๑  แผนกอุตสาหกรรมเครื่องหนังที่เขต ราชสิทธาราม

                   -  เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงสาขาวิชาออกแบบพาณิชยศิลป์ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์

                   -  ร่วมมือกับภาคเอกชน  เปิดสอนระบบทวิภาคี สาขางานหวาย  และสาขาเครื่องประดับ อัญมณี

พ.ศ. ๒๕๔๐      เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงสาขาวิชาออกแบบตกแต่ง

พ.ศ. ๒๕๔๑      ปิดการเรียนการสอนที่เขตราชสิทธาราม  ได้ย้ายมาเรียนที่เขตราชดำเนิน (เฉพาะแผนกอุตสาหกรรมเครื่องหนัง)

พ.ศ. ๒๕๔๒      ได้ย้ายมาทำการสอน ณ วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ ลาดพร้าว ๑๐๑ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กทม. เพียงแห่งเดียวและเหลือระยะสั้นคงไว้ที่                         ราชดำเนินเพียงบางส่วนโดยกรมอาชีวศึกษาได้ใช้สถานที่ราชดำเนินเป็นอาคารปฏิบัติการวิชาชีพ กรมอาชีวศึกษาในรูปคณะกรรมการตามที่กรมอาชีวศึกษา                     ได้จัดตั้งขึ้น

พ.ศ. ๒๕๔๒      เปิดสอนประกาศนียบัตรวิชาชีพสาขาพาณิชยกรรม  ประเภทพณิชยการ

พ.ศ. ๒๕๔๘      ผ่านการประเมินคุณภาพภายนอกเพื่อรับรองมาตรฐานการศึกษาด้านอาชีวศึกษารอบที่แรก  ของปีการศึกษา  ๒๕๔๖ - ๔๗

พ.ศ. ๒๕๔๙      เปิดระบบเทียบโอนประสบการณ์

พ.ศ. ๒๕๕๐      เปิดสอนระดับ ปวส. (ประกาศนีบัตรวิชาชีพชั้นสูง) คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ สาขางานการพัฒนาเว็บเพจ

พ.ศ. ๒๕๕๐      หลักสูตรระยะสั้นได้ย้ายทำการสอนจากราชดำเนิน มาที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ   ลาดพร้าว ๑๐๑

พ.ศ. ๒๕๕๐      เปิด  “หอศิลป์  ๑๐๑” เพื่อเป็นสถานที่ใช้บูรณาการองค์ความรู้ให้สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

พ.ศ. ๒๕๕๑      เปิด  “อาแกลเลอรี่”  เพื่อเป็นสถานที่ใช้จัดแสดงผลงานศิลปะ  จากวิทยาลัยในสังกัดอาชีวศึกษาที่เปิดสอนประเภทวิชาศิลปกรรม

พ.ศ. ๒๕๕๑      ผ่านการประเมินคุณภาพภายนอกเพื่อรับรองมาตรฐานการศึกษาด้านอาชีวศึกษารอบที่ ๒  ของปีการศึกษา  ๒๕๔๙ -๕๐

พ.ศ. ๒๕๕๒      เปิดโรงเรียนโรงงานอุตสาหกรรมเครื่องหนัง  และพิพิธภัณฑ์เครื่องหนัง

พ.ศ. ๒๕๕๒      เปิดอาคารศูนย์บริการวิชาชีพ  “ สุจิตวิมล ”

พ.ศ. ๒๕๕๒      ผ่านการประเมินคุณภาพการศึกษาโดยต้นสังกัด  ปีการศึกษา ๒๕๕๑

พ.ศ. ๒๕๕๒      ผ่านการประเมินสถานศึกษาพอเพียงด้านการจัดการเรียนการสอนและการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

พ.ศ. ๒๕๕๔      วิทยาลัยได้รับรางวัลชมเชย  ในโครงการคัดเลือกสถานศึกษารางวัลพระราชทาน ระดับอาชีวศึกษา  ขนาดเล็ก  ประจำปีการศึกษา  ๒๕๕๔

พ.ศ. ๒๕๕๔      เริ่มจัดงานวิชาการประจำวิทยาลัยภายใต้ชื่อ  “ อาร์ตดีจัง ”

พ.ศ. ๒๕๕๕      จัดทำศูนย์เรียนรู้  ARTWORK

พ.ศ. ๒๕๕๕      ผ่านการประเมินคุณภาพการศึกษาโดยต้นสังกัด  ปีการศึกษา ๒๕๕๔(วันที่ ๒๓-๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖)

พ.ศ. ๒๕๕๕      รับการประเมินคุณภาพภายนอกเพื่อรับรองมาตรฐานการศึกษาด้านอาชีวศึกษารอบที่ ๓  ของปีการศึกษา  ๒๕๕๒ –๕๔ (วันที่ ๒๘-๓๐ มกราคม พ.ศ.                        ๒๕๕๖)

พ.ศ. ๒๕๕6      ได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาด้านอาชีวศึกษารอบที่ ๓  ของปีการศึกษา (๒๕๕4 –25๕8) ตั้งแต่วันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ 

พ.ศ. 2557      ได้รับรางวัลชมเชย ระดับชาติ ผลงานสิ่งประดิษฐ์ เบาะอเนกประสงค์เพื่อสุขภาพ สิ่งประดิษฐ์ประเภทที่ 9 สิ่งประดิษฐ์ด้านหัตถศิลป์

พ.ศ. 2558      ผ่านการประเมินคุณภาพการศึกษาโดยต้นสังกัด ปีการศึกษา 2557 (วันที่ 17 – 19 สิงหาคม 2558)

พ.ศ. 2558      ได้รับรางวัลชมเชย ระดับเหรียญทองแดง ระดับภาค ผลงานสิ่งประดิษฐ์ รองเท้า DO IT YOURSELF สิ่งประดิษฐ์ประเภทที่ 3 สิ่งประดิษฐ์ประเภท                           ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป

พ.ศ. 2558      ได้รับรางวัลชมเชย ระดับภาค ผลงานสิ่งประดิษฐ์ MY POCKET PHONE สิ่งประดิษฐ์ประเภทที่ 9 สิ่งประดิษฐ์ด้านหัตถศิลป์

 

              ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา วิทยาลัยแห่งนี้ได้ผลิตนักเรียน นักศึกษาไปประกอบอาชีพต่าง ๆ ได้แก่ อาชีพรับราชการ เช่น ครูอาจารย์ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ทุกงานในโรงพยาบาลรัฐวิสาหกิจ (การบินไทย)  โรงงานประกอบรถยนต์  โรงงานอุตสาหกรรมทำรองเท้า และกระเบื้อง มูลนิธิสายใจไทย ประกอบอาชีพส่วนตัว ฯลฯ

              ปัจจุบันนี้อาชีพอื่นหางานทำยาก  แต่งานหนัง  งานออกแบบ  งานการใช้โปรแกรมด้านกราฟิกยังสามารถยึดเป็นอาชีพอิสระที่สามารถทำเงินได้โดยใช้เงินทุนเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้วิทยาลัยฯ ยังได้ทำประโยชน์ให้กับสังคมอีกมากมาย เช่น

              -  ร่วมโครงการพัฒนาอาชีพให้ประชาชน       

              -  โครงการบริการซ่อมสร้างมุ้งลวด  และเบาะ 

              -  ทำกระเป๋าให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

              -  คณะครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา ได้ร่วมงานบุญประจำปีวัดบึงทองหลาง

              - นักเรียน นักศึกษา ร่วมจัดทำกระทง เพื่อถวายวัดบึงทองหลาง

              -  ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอบรมงานผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง  ให้กับพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรมเครื่องหนังและประชาชนที่สนใจ

              นักเรียนนักศึกษาแผนกอุตสาหกรรมเครื่องหนัง  ที่สำเร็จการศึกษาจากสถานศึกษาแห่งนี้ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ  โดยเฉพาะธุรกิจส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง  ซึ่งสินค้าประเภทเครื่องหนังเป็นสินค้าออกติดอันดับ  ๑  ใน  ๑๐  ที่ทำรายได้ให้กับประเทศมากมายมหาศาล

              วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ  เปิดสอน ๒ ประเภทวิชา ได้แก่  ประเภทวิชาศิลปกรรม  และ พณิชยการ เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับชุมชนได้มีทางเลือกในการศึกษาตามความต้องการ เป็นการสนองนโยบายปฏิรูปการศึกษาอีกทางหนึ่งด้วย

              เปิดการเรียนการสอน ๖ สาขาวิชา  โดยมุ่งที่จะจัดการเรียนการสอนให้สามารถเอื้ออำนวยและสนับสนุนซึ่งกันและกันทุกสาขาวิชาภายใต้เอกลักษณ์วิทยาลัยคือ “ศิลป์ออกแบบ  หนังผลิต  พาณิชย์จำหน่าย”  ได้แก่สาขาวิชา   ออกแบบ   คอมพิวเตอร์กราฟิค  วิจิตรศิลป์  เครื่องประดับอัญมณี  อุตสาหกรรมเครื่องหนังและพาณิชยกรรม  โดยจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนนักศึกษาได้มีความรู้ความสามารถที่ก่อประโยชน์สนับสนุนความสามารถทั้งด้านองค์ความรู้  ทักษะ และจรรยาบรรณวิชาชีพนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ยกตัวอย่างเช่น ผู้เรียนสาขาวิชาอุตสาหกรรมเครื่องหนังได้จัดให้มีการเรียนในรายวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับออกแบบรูปทรงโครงสร้างและประโยชน์ใช้สอยของรองเท้าและกระเป๋า   อีกทั้งยังจัดให้เรียนวิชาคอมพิวเตอร์ การขาย บัญชีเบื้องต้น เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวการนำเสนอผลงานให้ผู้อื่นหรือลูกค้าได้    ทั้งยังสามารถทำบัญชีการรับ-จ่ายเงิน หลักการทำบัญชีเบื้องต้นได้เป็นต้น

 

                   ๑.๑.๒ ขนาดและที่ตั้ง

 

               วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ ปัจจุบันมีที่ตั้ง ๒ เขต คือ วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ  (ราชดำเนิน) ในเขตพระนคร และวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ (บึงทองหลาง) ในเขตบางกะปิ ซึ่งมีเนื้อที่ ๒๓ ไร่ ๑ งาน ๓๙ ตารางวา (ส่งมอบคืนอาคารราชดำเนินแก่ส่วนทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ในวันที่ 30 กันยายน 2556)

แผนที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ

 แผนที่วิทยาลัย.jpg

ภาพ ๑ แสดงแผนที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ

อาคารเรียนในวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ  มีจำนวน  ๗ หลัง  ๔๗  ห้อง  ประกอบด้วยห้องเรียนวิชาสามัญห้องปฏิบัติการประจำแผนกต่าง  ๆ  ห้องสมุด ห้อง Sound  Lap  และห้องศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง วิทยบริการ ห้อง Internet  หอศิลปกรรม ๑๐๑  นอกจากนี้วิทยาลัย ฯ   ยังมีศูนย์บ่มเพาะและบริการวิชาชีพสุจิตวิมล  ที่เกิดจากการร่วมคิด ร่วมทำของผู้บริหารและบุคลากรในวิทยาลัยร่วมกับกรรมการสถานศึกษาเพื่อให้เป็นแหล่งการเรียนที่สำคัญของท้องถิ่นและนักเรียน นักศึกษา

แผนผังวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ

 

                              ภาพ ๓ ภาพแสดงแผนผังวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ

 

๑.๑.๓ สภาพชุมชน เศรษฐกิจ สังคม

                   ชุมชนลาดพร้าว ๑๐๑  ซอยลาดพร้าว ๑๐๑  แขวงคลองจั่น  เขตบางกะปิ (บางกะปิถิ่นขวัญเรียม ยอดเยี่ยมแหล่งอุดมศึกษา เคหะชุมชนพัฒนา ล้ำค่าแสนแสบคลองของถิ่นเรา)  หรือชุมชนวัดบึงทองหลาง ประกอบด้วยโรงเรียนวัดบึงทองหลาง เป็นโรงเรียนประถมศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานคร โรงเรียนมัธยมบึงทองหลาง(กรมสามัญ) และวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีวัดบึงทองหลางเป็นศูนย์กลาง  วัดแห่งนี้ตั้งอยู่เลขที่ ๑๔ ซอยลาดพร้าว ๑๐๑ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ เป็นวัดที่พระอุโบสถสร้างเป็นรูปลักษณะเรือ พระประธานในอุโบสถชื่อหลวงพ่อพรศรีสุเวทสุวรรณ วัดนี้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างของกรมศาสนาและของกรุงเทพมหานคร ในด้านการอนุเคราะห์ผู้ยากจนด้วยการบริจาค โลงศพฟรี มีรถรับศพ และอาหารว่างฟรีหนึ่งมื้อระหว่างการสวด นอกจากนี้ยังมีการบริจาคที่ดินเพื่อการศึกษาอีกด้วย วัดนี้ยังเป็นที่ตั้งของมูลนิธิหลวงปู่พัก พระเกจิอาจารย์ชื่อดังทางด้านวิปัสสนา ในสมัยก่อนซึ่งเป็นที่เคารพนับถือในชุมชน  เป็นย่านที่มีบ้านพักอาศัยหนาแน่น  ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง ค้าขายทั่วไป เขตบางกะปิมีประชากรทั้งสิ้น 149,056 คน  (ข้อมูล พ.ศ. 2556)  มี 2 แขวงคือแขวงคลองจั่น และแขวงหัวหมาก  มีนายสิน นิติธาดากุล เป็นผู้อำนวยการเขตบางกะปิ

วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ
เลขที่ 89 ลาดพร้าว101 คลองจั่น บางกะปิ
กรุงเทพฯ10240

Generated 0.020259 sec.