ประวัติวิทยาลัย
ประวัติ ความเป็นมา วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ
วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2479 มีฐานะเป็นโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2484 ได้ย้ายมาเปิดทำการ ณ เลขที่ 20 อาคาร 6 ถนนราชดำเนินกลางในนามโรงเรียนช่างหนัง ราชดำเนิน รับนักศึกษาผู้สำเร็จชั้นประถมปีที่ 4 เข้าเรียน สอนวิชาช่างหนังแก่นักเรียนชาย และวิชาตัดเย็บเสื้อผ้าแก่นักเรียนหญิง ตั้งอยู่ใกล้วัดสุทัศน์เทพวราราม พ.ศ. 2482 กระทรวงธรรมมาการในสมัยนั้นได้รับโอนกิจการไปขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการโดยตรง และย้ายโรงเรียน ช่างเย็บหนังและเสื้อผ้าเฉลิมโลก สอนเฉพาะ นักเรียนชาย
ในปี พ.ศ. 2502 นายบำรุง พรหมพฤกษ์ เป็นครูใหญ่ได้เปิดสอนมัธยมอาชีวศึกษาตอนปลายหลักสูตร 3 ปี ต่อจากมัธยมศึกษาตอนปลายและตามแผนการศึกษาแห่งชาติปี พ.ศ. 2503 ได้เปลี่ยนชื่อจากอาชีวศึกษาชั้นสูงเป็นมัธยมศึกษาสายอาชีพ
เนื่องจากการเรียนการสอน และกิจการอื่นๆได้เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับโดยเฉพาะวิชาช่างหนังได้เพิ่มสอนวิชาที่ทันสมัย ซึ่งท้องตลาดยังไม่ได้ดำเนินการทำ นักเรียนสามารถทำงานด้านช่างหนังซึ่งมีอยู่ในท้องตลาดได้ทุกชนิด สามารถทำสิ่งที่ท้องตลาดยังไม่ได้คิดทำ นักเรียนที่สำเร็จออกไปมีความรู้ด้านวิชาช่าง และวิชาสามัญเป็นอย่างดี สามารถนำความรู้ ความสามารถไปใช้ในการประกอบอาชีพทั้งในหน่วยงานรัฐบาลและเอกชน
ฉะนั้นโรงเรียนเห็นว่าควรได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนใหม่ เพื่อความเหมาะสม จึงได้เสนอข้ออนุมัติเปลี่ยนชื่อโรงเรียนไปยังกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนชื่อจาก “โรงเรียนช่างเย็บหนังราชดำเนิน” ไปเป็น “โรงเรียนช่างหนังพระนคร” ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2513
ต่อมาในปี 2519 ทางโรงเรียนได้จัดทำหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) “แผนกวิชาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง” เสนอต่อกรมอาชีวศึกษา ซึ่งทางกรมได้พิจารณาและอนุมัติให้ทางโรงเรียนเปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)ดังกล่าว ซึ่งทำให้ผู้ได้รับการศึกษาในแผนกนี้มีความรู้ความสามารถในการไปประกอบอาชีพส่วนตัวและรับราชการพร้อมมีฐานะเทียบเท่าอนุปริญญาทางอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง และ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2519 ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียน
จากโรงเรียนช่างหนังพระนคร อีกครั้งหนึ่งเป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษากรุงเทพ วิทยาเขต 5 ราชดำเนิน ประกอบด้วย สถานศึกษา 8 แห่ง คือ
- วิทยาลัยเทคนิคดุสิต
- วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา
- วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี
- วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอี่ยมละออ
- โรงเรียนช่างหนังพระนคร
- วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี
- วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม
- วิทยาลัยเทคนิคอินทราชัย
พ.ศ. 2521 เปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยช่างอุตสาหกรรมนครหลวง
พ.ศ. 2522 ได้แยกตัวออกเป็นอิสระชื่อ วิทยาลัยเทคนิคอินทราชัย มี 2 วิทยาเขตคือวิทยาเขตราชดำเนิน และวิทยาเขตประตูน้ำ
พ.ศ. 2523 วิทยาลัยเปิดสอนแผนกวิชาศิลปหัตถกรรมอีก 1 แผนก และ ได้รับการยกฐานะให้เป็นวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2523 นายบำรุง พรหมพฤกษ์ เป็นผู้อำนวยการ
พ.ศ. 2525 เปิดสอนแผนกวิชาศิลป์ประยุกต์ เพิ่มอีก 1 แผนก
พ.ศ. 2530 เปิดสอนแผนกวิชาวิจิตรศิลป์ และขยายที่สอนไปยังวิทยาเขตราชสิทธาราม อีก 1 เขต
พ.ศ. 2532 เปิดหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาการทำกระเป๋า และการทำรองเท้า
พ.ศ. 2535 ได้รับงบประมาณสร้างวิทยาลัยใหม่ ที่ซอยลาดพร้าว 101 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กทม. เปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาวิชาอุตสาหกรรมเครื่องหนัง สาขาวิชาการออกแบบ สาขาวิชาวิจิตรศิลป์ สาขาวิชาหัตถกรรม
พ.ศ. 2537 ย้ายแผนกอุตสาหกรรมเครื่องหนัง (ปวช.1) จากเขตลาดพร้าวมาสอนที่วิทยาเขตราชสิทธารามและราชดำเนิน
- เปิดรับสมัครนักเรียน ปวช.1 แผนกอุตสาหกรรมเครื่องหนังที่เขตราชสิทธาราม
- เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงสาขาวิชาออกแบบพาณิชยศิลป์ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์
- ร่วมมือกับภาคเอกชน เปิดสอนระบบทวิภาคี สาขางานหวาย และสาขาวิชาเครื่องประดับอัญมณี
พ.ศ. 2540 เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงสาขาวิชาออกแบบตกแต่ง
พ.ศ. 2541 ปิดการเรียนการสอนที่วิทยาเขตราชสิทธาราม ได้ย้ายมาเรียนที่วิทยาเขตราชดำเนิน เปิดสอนเฉพาะแผนกวิชาอุตสาหกรรมเครื่องหนัง
พ.ศ. 2542 ย้ายมาทำการสอน ณ วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพฯ ลาดพร้าว 101 แขวงคลองจั่น
เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียวและเหลือระยะสั้นคงไว้ที่ราชดำเนินเพียงบางส่วนโดยกรมอาชีวศึกษาได้ใช้สถานที่ราชดำเนินเป็นอาคารปฏิบัติการวิชาชีพ กรมอาชีวศึกษาในรูปแบบคณะกรรมการตามที่กรมอาชีวศึกษาได้จัดตั้งขึ้น
พ.ศ. 2542 เปิดสอนประกาศนียบัตรวิชาชีพสาขาวิชาพณิชยการ ประเภทวิชาพาณิชยกรรม |