Frankshin Article


เงินถุงแดงถุงนี้ที่ลูกหลานไทยต้องทราบ
ขุดมาเล่า...พระยอดเมืองขวาง (7) เงินถุงแดงถุงนี้ที่ลูกหลานไทยต้องทราบ โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก
มติชนออนไลน์ วันที่ 05 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เวลา 17:00:29 น (ที่มา:มติชนรายวัน 5 สิงหาคม 2558)

ความเดิมจากตอนที่แล้ว ราชทูตฝรั่งเศส นาย ม.ปาวี ได้รับหนังสือด่วนตอบจากรัฐบาลสยาม แปลความได้ชัดว่าสยามมิได้ยอมสยบให้แก่ฝรั่งเศสตามที่ยื่นคำขาดไป 6 ข้อ จึงสั่งการให้กองเรือฝรั่งเศสปิดอ่าวไทยทันที สยามหันไปปรึกษาอังกฤษเพื่อให้ช่วยแนะนำหาทางออก อังกฤษกลับชี้ทางสว่างให้สยามรีบทำตามที่ฝรั่งเศสต้องการและอย่าไปขัดใจฝรั่งเศสเพื่อความอยู่รอดของสยาม ช่างเป็นคำแนะนำที่น่าประทับใจมิรู้ลืม รัฐบาลสยามในครั้งกระนั้น ค่อนข้างที่จะไว้ใจกับอังกฤษพอสมควร เนื่องจากลอนดอนมิได้แสดงถึงความหิวโหยในความเป็นจักรวรรดินิยมแบบปารีส และที่ผ่านมาสยามค่อนข้างมีใจให้กับอังกฤษ

สยามไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น

29 กรกฎาคม 2436 รัฐบาลสยามรีบโทรเลขไปที่อัครราชทูตไทยที่ปารีส ให้แจ้งรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสว่า สยามยินยอมยอมที่จะทำตามที่ฝรั่งเศสยื่นคำขาดทั้ง 6 ข้อ 30 กรกฎาคม 2436 รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส โทรเลขสวนหมัดกลับมาตำหนิสยามว่า ตัดสินใจล่าช้า จึงขอเพิ่มบทลงโทษ เพิ่มการต่อรอง โดยระบุว่า
1.ฝรั่งเศสจะเข้ายึดปากน้ำและเมืองจันทบุรีไว้จนกว่าสยามจะถอนทหารออกจากดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
2.สยามต้องไม่มีกำลังทหารที่เสียมราฐและพระตระบอง
3.สยามจะต้องไม่มีกำลังทหารในระยะ 25 กิโลเมตรจากฝั่งแม่น้ำโขง นับแต่ดินแดนเขมรขึ้นไป ให้มีได้เฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง
4.ห้ามสยามใช้เรือ หรือพาหนะทางเรือใด ๆ ที่มีอาวุธในทะเลสาบเขมรและในลำน้ำโขง
5.รัฐบาลฝรั่งเศสสงวนสิทธิ์ที่จะตั้งกงสุลไว้ที่เมืองนครราชสีมาและเมืองน่าน
6.เมื่อรัฐบาลสยามรับปฏิบัติตามนี้แล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสจะยกเลิกการปิดอ่าวไทยทันที

หนังสือฉบับนี้ ในประวัติศาสตร์สยามเรียกว่า 'บันทึกปารีส (Paris Note)' ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2436
ผู้เขียนยอมรับว่า ค้นคว้ามาเจอเกล็ดประวัติศาสตร์ของแผ่นดินเกิด ที่เพิ่งมาทราบมาก่อนในช่วงปลายชีวิตรับราชการแล้ว จึงเป็นแรงบันดาลใจอย่างแรงกล้าที่อยากจะนำมาเผยแพร่ บอกเล่า เพื่อคนไทยจะต้องเรียนรู้และเห็นสมควรจะต้องเป็นหนังสือที่คนไทยรุ่นหลังต้องอ่านโดยบรรจุในระบบการศึกษาของไทยด้วย เนื่องจากมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์สูงส่ง

โรคซ้ำกรรมซัด โถมเข้าใส่สยามแบบตั้งตัวไม่ติดเหมือนร่างกายอ่อนแอ โรคภัยเบียดเบียน เหตุการณ์ที่สยามโดนฝรั่งเศสรังแก แพร่กระจายเป็นข่าวไปถึงในมหาอำนาจในยุโรป หนังสือพิมพ์ พันช์ (Punch) ฉบับวันที่ 5 สิงหาคม 2436 ของอังกฤษวาดเป็นภาพล้อเลียนชื่อภาพ ' หมาป่าฝรั่งเศสกับลูกแกะสยาม' (The French Wolf and the Siamese Lamb) ที่เป็นภาพทหารฝรั่งเศสยืนกอดอกมีหัวเป็นหมาป่า จ้องมองไปที่ลูกแกะที่หวาดกลัว เปรียบได้กับสยาม โดยยืนคนละฝั่งแม่น้ำโขง ภาพนี้ สยามมิได้วาดภาพนี้เอง อังกฤษวาดให้ครับ

การเมือง การทหาร ที่บังเกิดแก่บ้านเมืองเหล่านี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของสยาม ในหลวงรัชกาลที่ 5 ถึงกับทรงพระประชวรจากความบอบช้ำพระทัยที่ฝรั่งเศสย่ำยีสยาม จึงนำมาสู่พระราชดำริที่จะเสด็จประพาสยุโรป ดังพระราชดำรัสว่า 'ฤๅจะเป็นการดีแก่บ้านเมืองที่จะออกไปเอง' และนี่เป็นจุดเริ่มต้นการส่งพระราชโอรสหลายพระองค์ไปศึกษาในต่างประเทศ

การข่มเหงเบียดเบียนสยามของฝรั่งเศส มีมุมมองทางยุทธศาสตร์ที่น่าศึกษาเช่นกันว่า จุดประสงค์สุดท้ายที่ต้องการที่แท้จริง (End-state) ของฝรั่งเศสคืออะไร
มีเอกสารวิเคราะห์ไว้ว่า ฝรั่งเศสมุ่งมั่น ป้วนเปี้ยนอยู่กับดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขงตลอดแนว เพราะต้องการครอบครองชายฝั่งและตัวแม่น้ำโขงที่เป็นแม่น้ำสายหลักในภูมิภาค เพื่อเป็นประตูเข้าสู่จีนจากทางใต้ เพื่อการค้าขายนั่นเอง จึงเป็นเหตุให้ต้องมาใช้กำลังข่มขู่สยามที่ครอบครองดินแดนบางส่วนของแม่น้ำโขงอยู่ การครอบครองแม่น้ำที่มีศักยภาพอย่างแม่น้ำโขงคือมาตรการการผูกขาดทางการค้าอย่างหนึ่งที่จะ ควบคุมทรัพยากรอันมั่งคั่งในตะวันออกไกลและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเริ่มจากมณฑลยูนนานของจีนลงใต้มาออกทะเลที่ดินแดนเขมร ที่แสนจะอุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร โดยเฉพาะทะเลสาบในเขมร

เป็นตรรกะที่น่ารับฟังและมีเหตุผลครับ

ต้องยอมรับว่าอังกฤษก็คิดและทำแบบเดียวกับฝรั่งเศส โดยเข้าปกครองอินเดีย เลยเข้าไปยึดพม่า เพื่อปูทางเข้าสู่จีนตอนใต้ แข่งกับฝรั่งเศส ซึ่งดินแดนของจีนนั้นยังกระจัดกระจายเป็นชนเผ่า อุดมสมบูรณ์ มีเนื้อที่กว้างใหญ่ไพศาล

2 มหาอำนาจนี้เก่งกาจในเชิงยุทธศาสตร์ที่อ่านขาดในด้านภูมิรัฐศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อการครอบครองดินแดนและการค้า ทุกวันนี้เทียบเคียงได้กับยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง 5 ประเทศ หรือ ACMECS ตรงกับที่ฝรั่งเศสคิดไว้เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว โดยเอาดินแดนสองฝั่งแม่น้ำสายหลักเป็นกรอบการทำงานร่วมกัน และถ้ามองออกไปนอกทวีปเอเชีย อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน ฮอลันดา โปรตุเกส ฯลฯ ต่างแย่งชิงกันยึดดินแดนที่มีชายฝั่งทะเลเหมาะแก่การทำท่าเรือ เมืองท่า ตามนักยุทธศาสตร์ระดับโลก เซอร์ วอลเทอร์ ราเลห์ ที่มีแนวคิดและทฤษฎีว่า ผู้ใดครองทะเล ผู้นั้นจะได้ครองอำนาจทางการค้าของโลก

ท่านลองกางแผนที่โลกดูนะครับ บรรดาอาณานิคมของ อังกฤษและฝรั่งเศส (รวมทั้งมหาอำนาจทั้งหลาย) ล้วนเป็นพื้นที่และเมืองชายฝั่งทะเลทั้งสิ้น เรื่องที่เหลือเชื่อที่ผู้เขียนได้พบข้อมูลจากเอกสาร ของ ร.ศ.ดร.จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ ที่บันทึกว่าในปี พ.ศ.2428 รัฐบาลฝรั่งเศสได้ส่งนาย เดอลองกล์ (Deloncle) ซึ่งเคยเป็นกงสุลฝรั่งเศสประจำพม่า แล้วต่อมาเป็น ส.ส.ของฝรั่งเศส ได้เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อติดต่อขอลงทุนขุดคอคอดกระในสยาม แต่รัฐบาลสยามไม่อนุมัติและเพ่งเล็งว่าบุคคลผู้นี้มีทัศนคติไม่ดีต่อเมืองสยาม

ถึงผู้เขียนจะรู้สึกอึดอัดกับประวัติศาสตร์ตอนนี้ แต่ก็ต้องแอบชื่นชอบ ในความรู้ การมีนวัตกรรมทางความคิด พิสูจน์ทราบ ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ของฝรั่งเศสที่มาสอดรู้สอดเห็นว่า แผ่นดินสยามน่าจะขุดคอคอดกระ เพิ่งกระจ่างว่า เรื่องแนวคิดการขุดคอคอดกระทางภาคใต้ของไทยนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย ฝรั่งเศสเคยจ้องจะมาขุดให้สยามเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว น่าทึ่งมากครับ

ย้อนมาคุยกันเรื่องเงินค่าปรับที่ฝรั่งเศสขีดเส้นตายไว้ให้นำส่งใน 48 ชั่วโมง สยามจะเอาเงินมาจากไหน

มีคำอธิบายเชิงประวัติศาสตร์ไว้อย่างน่าสนใจในหนังสือสาส์นสมเด็จ เล่ม 13 ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายเรื่องเกี่ยวกับการเงิน การคลังในนั้นว่า '...เคยได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่เล่ากันมาว่า เดิมพระเจ้าแผ่นดินโปรดให้มีกำปั่นเงินไว้ข้างพระแท่นที่บรรทมใบหนึ่ง สำหรับทรงหยิบพระราชทานผู้ใดหรือใช้จ่ายการอันใดโดยลำพังพระองค์เอง คือไม่ต้องบอกให้ผู้อื่นรู้ จะเป็นประเพณีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา หรือมามีขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ไม่ทราบแน่' เห็นจะเรียกกันว่า 'เงินข้างที่' ทำนองเดียวกับเรื่องเงินที่เอาตามเสด็จไปไหนๆ ว่า 'เงินท้ายที่นั่ง' ในสมัย ร.3 ทรงเก็บหอมรอบริบเงินซึ่งเป็นส่วนพระองค์ สำหรับทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ซึ่งเรียกกันว่า 'เงินถุงแดง′ สำรองไว้สำหรับใช้ในเวลาบ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ

ในสมัยในหลวง ร.3 สยามรุ่งเรืองจากการค้าทางเรือสำเภา ทั้งสำเภาหลวงและสำเภาส่วนพระองค์ สยามทำการค้ากับจีนมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยหรือก่อนหน้านั้น ต่อมาสมัยอยุธยามีหลักฐานว่าค้าขายกับโปรตุเกส ฮอลันดา สเปน ญี่ปุ่น เปอร์เซีย อาหรับ ฝรั่งเศส ฯลฯ ในปี พ.ศ.2310 การค้าขายกับต่างประเทศหยุดชะงักเพราะเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แต่ก็เริ่มฟื้นฟูขึ้นอีกในสมัยกรุงธนบุรี โดยเริ่มค้ากับจีน ฮอลันดา และอังกฤษ ต่อเนื่องมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์

ในเอกสารพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 โดยเจ้าพระยาทิพากรวงศามหาโกษาธิบดี ได้กล่าวถึงพระบรมราโชวาทของในหลวง ร.3 ที่สำคัญเมื่อใกล้สวรรคตพระราชทานแก่ขุนนาง ข้าราชบริพารที่เข้าเฝ้าฯ ไว้ว่า 'การศึกสงครามข้างญวน ข้างพม่า ก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิด ควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปเสียทีเดียว ทุกวันนี้คิดสละห่วงใยได้หมด' จากพระราชดำรัสดังกล่าวแสดงถึงพระวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลของในหลวง ร.3 ทรงเห็นภัยคุกคามจากชาติตะวันตกในยุคนั้น

เงินในสมัยนั้นมีหน้าตาอย่างไร

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สยามมีการติดต่อการค้ากับต่างประเทศ สื่อที่ใช้ในการแลกเปลี่ยน จึงน่าจะเป็นเงินเหรียญต่างประเทศที่มีการยอมรับกันในยุคนั้น เช่น เงินเม็กซิโก เงินเปรู และเงินรูปีของอินเดีย ซึ่งในประเทศ ชาวสยามเองใช้เป็น 'เงินพดด้วง' จึงสันนิษฐานว่าเงินในถุงแดงน่าจะเป็นเงินเหรียญรูปนกของเม็กซิโกที่นำมารวบรวมเอาให้ฝรั่งเศส

เหรียญเม็กซิโกนี้มีรูปนกอินทรีย์กางปีก ไทยจึงเรียก 'เหรียญนก' สอดคล้องกับเอกสารที่บันทึกเหตุการณ์ ร.ศ.112 ของสมเด็จกรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ กราบทูลฯในหลวง ร.5 ว่าจ่ายเงินให้ฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2436 เป็นเหรียญจากท้องพระคลังจำนวน 801,282 เหรียญ คิดเป็นเงินบาทประมาณ 1,335,470 บาท เงินก้อนนี้มีค่าประมาณสองล้านห้าแสนฟรังก์ โดยนำไปมอบให้ฝรั่งเศสที่เรือ ที่เหลืออีกประมาณ 267,094 บาท ที่มีมูลค่าประมาณห้าแสนฟรังก์ รัฐบาลสยามส่งไปธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ สั่งจ่ายธนาคารเมืองไซ่ง่อน

รวมจ่ายค่าปรับ 963,141 เหรียญ คิดเป็นเงินบาทประมาณ 1,605,235 บาท กับอีก 2 อัฐ

มีเกร็ดตำนานเรื่องเงินถุงแดงไถ่เมือง ตามที่ ม.จ.หญิงพูนพิสมัย ดิศกุล ทรงนิพนธ์ไว้ในเรื่อง 'เหตุการณ์ ร.ศ.112 และเรื่องเสียเขตแดนใน ร.5' มีว่า ...ฝรั่งเศสไม่ต้องการให้ไทยจ่ายค่าเสียหายเป็นธนบัตร หากว่าต้องการเป็น 'เงินกริ๋ง ๆ' คราวนี้ก็ต้องเทถุงกันหมด เงินถุงแดงข้างพระที่ ที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงเก็บไว้ ด้วยมีพระราชดำรัสว่า 'เอาไว้ถ่ายบ้านถ่ายเมือง' ก็ได้ใช้จริงคราวนี้ ผู้ใหญ่เล่าว่า เจ้านายในพระราชวังเอาเงินถวายกันจนเกลี้ยง ใส่ถุงขนออกจากในวังทางประตูต้นสน ไปลงเรือทางท่าราชวรดิฐกันทั้งกลางคืนกลางวัน

มีการคำนวณแบบหยาบ ๆ ว่าน้ำหนักของเงินเหรียญที่รัฐบาลสยามลำเลียงแบบหามรุ่งหามค่ำไปใส่เรือฝรั่งเศสหนักราว 23 ตัน ใช้การลำเลียงโดยล้อเลื่อนทางถนน จนทำให้เกิดรอยล้อ ยุบเป็นร่องบนถนนในกรุงเทพฯเลยทีเดียว

อย่าลืมครับว่า ฝรั่งเศสเพิ่งไปแพ้สงคราม ฟรังโก-ปรัสเซียน ในปี 1870 บอบช้ำทางเศรษฐกิจอาการปางตายหิวจนตาลาย จึงต้องออกมาเที่ยวปล้นหาเงิน สยามจ่ายเงินครบ นักปล้นยังไปยึดจันทบุรี ประพฤติตนเป็นอันธพาลไม่หยุดแค่นี้ หิวกระหายไม่เลิก.....

โปรดติดตามตอนต่อไปครับ
post on August11th,2015.


รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

Size : 89.35 KBs
Upload : 2015-08-11 17:32:14
ติชม

กำลังแสดงหน้า 1/0
<<
1
>>

ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

0
คะแนนโหวด
สร้างโดย :


Frankshin
รายละเอียด Share
สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
สามัญสัมพันธ์


วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ
เลขที่ 89 ลาดพร้าว101 คลองจั่น บางกะปิ
กรุงเทพฯ10240

Generated 0.032470 sec.