Frankshin Article


บรรทัดฐาน-จริยธรรม “องค์กรอิสระ”
วิพากษ์บรรทัดฐาน-จริยธรรม “องค์กรอิสระ”
ที่มา มติชนออนไลน์ 15 กันยายน 2559
หมายเหตุ – มุมมองอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้งและอดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถึงการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขององค์กรอิสระ

สดศรี สัตยธรรม อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สําหรับการกำหนดขอบเขตจริยธรรมในการทำงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ทุกหน่วยงานจะมีบทบัญญัติจริยธรรมกำหนดเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่าแต่ละหน่วยงานมีอะไรบ้าง

ทั้งนี้ การพิจารณาร่วมกันเกี่ยวกับจริยธรรมในการทำงานนั้น คิดว่าต้องไม่มีการก้าวก่ายการทำงานกัน และต้องมีกลไกที่กำหนดขอบเขตอำนาจทำงานอย่างชัดเจนให้ยิ่งกว่าปัจจุบัน นอกเหนือจากนี้ประเด็นความเป็นกลางทางการเมืองก็ต้องระบุให้ชัดเจนด้วย

ทั้งนี้ ความเป็นกลางทางการเมืองเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกองค์กรจะต้องปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งในกฎหมาย กกต.ก็ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งมิได้ระบุไว้ในจริยธรรม เพราะฉะนั้นในเมื่อมีกฎหมายและมีบทลงโทษด้วย จึงไม่จำเป็นต้องไปเขียนไว้ในจริยธรรมอีก เพราะมีสถานะเป็นกฎหมาย และต้องปฏิบัติตามนั้น แต่ถ้านำหลักการเป็นกลางทางการเมืองไปเขียนไว้ในจริยธรรมแล้ว หากมีการละเมิดจริยธรรมก็จะไม่มีบทลงโทษอย่างจริงจัง เพียงแค่จะถูกบอยคอตทางสังคมแทน

การประชุมกันต้องควรยึดหลักความเป็นกลางทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าองค์กรอิสระทั้งหมดล้วนเกี่ยวพันกับการเมือง ถ้ามีการวินิจฉัย มีการตัดสินอะไรที่ยึดหลักเป็นกลางทางการเมืองก็จะไม่เกิดความปั่นป่วนที่ส่งผลต่อการเมืองและประชาชน อีกทั้งแต่ละองค์การต้องมีการตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันด้วย ซึ่งต้องระบุไว้ให้ชัดเจน

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ความคิดเห็นส่วนตัวมองว่าประเด็นเรื่องจริยธรรมถือเป็นประเด็นสำคัญ มีการพูดกันมานานแล้ว และก็มีการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่รัฐ ไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 279 ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็มีการกำหนดไว้ชัดเจนในมาตรา 219 ว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับแก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ

แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีความแตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2550 เนื่องจากมีการกำหนดผู้จัดทำไว้และกรอบเวลาดำเนินการจัดทำไว้อย่างชัดเจน ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ได้บอกว่าให้ใครเป็นคนทำจึงตีความว่าเป็นต่างคน ต่างทำ

ดังนั้น เมื่อมีการกำหนดผู้จัดทำไว้ชัดเจนก็ต้องดำเนินการเพื่อบังคับแก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ รวมทั้งหัวหน้าหน่วยงานธุรการของแต่ละองค์กรด้วย ส่วนจะกำหนดแบบใดให้ครอบคลุมถึงการรักษาเกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติตามที่ระบุไว้ในเนื้อหาของมาตรานี้นั้น ก็คงต้องไปดูอำนาจหน้าที่ของแต่ละองค์กรเป็นอย่างไร เมื่อกำหนดหน้าที่ไว้อย่างไรก็ต้องปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่นั้น จะไปกระทำการนอกอำนาจหน้าที่ไม่ได้ และแม้กระทำการในอำนาจหน้าที่แล้ว ก็ต้องกระทำด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ ปราศจากอคติทั้งปวง ไม่เกรงกลัวต่ออำนาจใด ๆ

นอกจากนี้ มาตรา 219 ยังกำหนดด้วยว่าการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมให้รับฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมทั้งใช้บังคับแก่ ส.ส., ส.ว., ครม.ด้วย เนื่องจากหน่วยงานทั้งหมดมีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกัน ซึ่งการกำหนดแบบนี้ถือว่าดี เพราะทำให้มีความชัดเจนขึ้น มีการกำหนดผู้จัดทำและกรอบเวลาดำเนินการ ไม่ใช่เรื่อยเปื่อย เพราะบางหน่วยงานในอดีตที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการกำหนดประมวลจริยธรรม

ทั้งนี้ ประเด็นนี้ถือว่ามีความสำคัญ โดยรัฐธรรมนูญปี 2550 เขียนกำหนดว่าถ้าหากมีการละเมิดหรือฝ่าฝืนจริยธรรม บทลงโทษคือถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 270 อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการกำหนดมาตรฐานจริยธรรมดีอย่างไร แต่ก็มองว่าตัวบุคคลนั้นสำคัญที่สุด ดังนั้น ควรกำหนดโทษไว้ชัดเจนว่าถ้าละเมิดจริยธรรมลักษณะแบบนี้จะผิดวินัยอย่างไรด้วย

หน้า 8
post on September16th,2016.


รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

Size : 297.50 KBs
Upload : 2016-09-16 14:21:09
ติชม

กำลังแสดงหน้า 1/0
<<
1
>>

ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

0
คะแนนโหวด
สร้างโดย :


Frankshin
รายละเอียด Share
สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
สามัญสัมพันธ์


วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ
เลขที่ 89 ลาดพร้าว101 คลองจั่น บางกะปิ
กรุงเทพฯ10240

Generated 0.026862 sec.